การบูลลี่ (Bully) คือ การกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูดหรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาระดับชาติและมีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ในยุคของคน Gen B, X, Y ที่ต่างก็เคยผ่านพฤติกรรมการถูกบูลลี่มาแล้วทั้งนั้น เพียงแต่รูปแบบอาจจะจำกัดอยู่ในวงที่แคบอย่างเช่น โรงเรียน, มหาวิทยาลัย, หมู่บ้าน หรือที่ทำงาน แต่ปัจจุบันเนื่องด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีที่พัฒนาแบบก้าวกระโดด ทำให้เราพบเห็นการบูลลี่หรือการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้น ผ่านโครงข่ายมือถือ หรือช่องทางออนไลน์อย่างอินเทอร์เน็ตและช่องทางโซเชี่ยลมีเดียต่าง ๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
จากปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก จึงเป็นที่มาของวันหยุดการระรานทางไซเบอร์สากล (Stop Cyberbullying Day) ซึ่งก่อตั้งโดย Cybersmile Foundation องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ โดยกำหนดให้วันศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน (ซึ่งปีนี้เป็นวันที่ 17 มิ.ย.65) เป็นวันหยุดการระรานทางไซเบอร์สากล เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความรุนแรงของการระรานทางไซเบอร์และร่วมกันหยุดพฤติกรรมและการกระทำดังกล่าว
ซึ่งที่ผ่านมาผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกจะร่วมกันรณรงค์โดยติดแฮชแทก #StopCyberbullyingDay เพื่อให้หยุดการกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ต โดยมีองค์กรและบริษัทชั้นนำอย่าง Microsoft, Facebook, Twitter, และ YouTube รวมถึง AIS ผู้ให้บริการโครงข่ายและผู้นำในฐานะ Digital Life Service Provider ของไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและรณรงค์หยุดการบูลลี่และพฤติกรรมกลั่นแกล้งทางออนไลน์ผ่านแคมเปญต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ
- หยุด Cyberbully ต้องแก้ที่ต้นเหตุ!
- สร้างภูมิคุ้มกันใช้ชีวิตในโลก Digital อย่างยั่งยืน
- AIS ผลักดัน “DQ” เพราะเด็กไทยเกือบครึ่งเกี่ยวข้องกับการ Cyberbully!!
และเมื่อมองย้อนกลับไป สำหรับคนในยุค Gen B, X, Y เราจะถูก บูลลี่ ในเรื่องของรูปร่าง หน้าตา เพศสภาพ ความบกพร่องของร่างกาย และรวมถึงฐานะและอาชีพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ไม่เคยหมดไปจากสังคม แถมยังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าตามที่เกริ่นไปในตอนต้น ทำให้ทุกวันนี้เราพบเห็นการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ในรูปแบบที่ทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการการแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น, การสร้างข่าวปลอม, การประจาน ใส่ร้าย ฯลฯ แต่สิ่งที่ถือว่าใกล้ตัวและเราจะพบเห็นได้ค่อนข้างชัดก็คือ การบูลลี่ ด้วยการเรียกชื่อคนอื่นที่ไม่ใช่ชื่อจริงของพวกเขา ผ่านคำล้อเลียนต่าง ๆ นานา อาทิ อีดำ อ้วน อีเตี้ย อีเอ๋อ อีตุ๊ด เป็นต้น
ปีนี้เอไอเอส จึงให้ความสำคัญกับปัญหาการบูลลี่ที่อยู่ใกล้ตัวของทุกคน และถือว่าเป็นปัญหาสะสมมาอย่างยาวนาน อย่างการเรียกชื่อด้วยการล้อเลียน ผ่านแคมเปญ “โปรดเรียกฉันด้วยชื่อฉัน” Please Call Me by My Name เพื่อให้เยาวชนและคนไทย ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แม้บางคนจะมองว่าเป็นเรื่องล้อกันเล่นขำ ๆ ในหมู่เพื่อนฝูง หรือคนรู้จัก แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ถูกกระทำอาจจะไม่ได้รู้สึกขำไปด้วย แถมยังก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจ จนสร้างบาดแผลไปตลอดชีวิต และอาจจะบานปลายไปสู่ปัญหาสังคมที่สร้างพื้นที่ความขัดแย้งเกลียดชัง จากทั้งผู้ถูกกระทำและผู้ที่บูลลี่ จนนำไปสู่ความรุนแรง และอาจเกิดโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าที่เราได้สัมผัสกันมาอย่างยาวนานทั้งในและต่างประเทศนั่นเอง
บทสรุป
เนื่องในวัน Stop Cyberbullying Day ปีนี้ AIS อุ่นใจ Cyber ในฐานะ คู่คิดดิจิทัล เพื่อคนไทย ตั้งเป้าหมายในการทำงานเพื่อให้คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ต สื่อออนไลน์ และโซเชียล อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย และมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นองค์กรที่พร้อมผลักดันให้สังคมไทยก้าวสู่สังคมที่ปลอดจากการระรานทางไซเบอร์สากล แม้จะเป็นพันธกิจที่มาพร้อมความท้าทายอย่างหนัก เนื่องจากรายงานของ Comparitech พบว่า สถิติการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ช่วงปี 2561-2564 ที่ผ่านมา พบว่าการกลั่นแกล้งกันผ่านทางช่องทางออนไลน์นั้นมีสถิติเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กไทยกำลังต้องเผชิญหน้ากับการถูกรังแกในโลกออนไลน์มากถึง 60% จากค่าเฉลี่ย 56% ทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจ การร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งเพื่อช่วยรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมาเอไอเอสเป็นแบรนด์ที่ส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และสร้างสรรค์ ให้ผู้ใช้งานตระหนักถึงปัญหาการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ในทุกรูปแบบ หยุดพฤติกรรมการเรียกชื่อคนรอบตัวด้วยคำล้อเลียน เรียกฉันด้วยชื่อฉัน เพื่อให้พื้นที่ในโลกไซเบอร์เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน”