เอไอเอสในฐานะผู้นำด้าน Digital Life Service Provider ที่มุ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ ผ่านโครงการ AIS อุ่นใจ CYBER ได้เล็งเห็นผลกระทบต่อการเติบโตและความเปลี่ยนแปลง ทั้งในเชิงบวกและลบของเทคโนโลยีที่ก้าวเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของทุกสังคมและเพศวัย ซึ่งที่ผ่านมาทางเอไอเอสมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงข่ายและเทคโนโลยีไปพร้อม ๆ กับการสร้างสังคมดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้นไปแบบควบคู่กัน โดยเอไอเอสได้ออกแคมเปญสนับสนุนให้เยาวชนและคนไทย ได้ใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรื่องใกล้ตัวที่เห็นได้เด่นชัดก็คือการกลั่นแกล้งทางออนไลน์หรือ Cyberbullying นั่นเอง ที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นแคมเปญดี ๆ จากทางเอไอเอส ไม่ว่าจะเป็น “โปรดเรียกฉันด้วยชื่อฉัน”, หยุด Cyberbully ต้องแก้ที่ต้นเหตุ! , รวมถึงแคมเปญที่ให้ความรู้ในด้านความปลอดภัยจากอันตรายในโลกดิจิทัล อาทิ การรับมือกับโทรกวนใจ และ SMS หลอกลวง, ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยในวัน Safer Internet Day 2022 และอื่น ๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันของคนไทย โดยเมื่อมองในภาพรวมสิ่งเหล่านี้จึงเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของเอไอเอส ในการเข้ามาเป็นแกนกลางเพื่อสร้างเครือข่าย และชวนทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงและความปลอดภัยให้กับสังคมดิจิทัลของไทยอย่างแท้จริง
เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา AIS ได้เดินหน้าขยายผลโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” ด้วยหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการเสริมทักษะดิจิทัลหลักสูตรแรกของไทยที่ได้รับมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่าน ศึกษานิเทศก์ ครูอาจารย์ ไปสู่ นักเรียน ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ที่ครอบคลุมเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขต รวม 29,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ล่าสุด เอไอเอส ได้ยกระดับภารกิจขึ้นไปอีกขั้นด้วยการเปิดตัว “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนักวิชาการทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านสุขภาพ ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการศึกษา และด้านการวัดประเมินผล จนออกมาเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ที่เป็นไปตามมาตรฐาน แม่นยำ และถูกต้องตรงกลุ่มเป้าหมาย
ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล อีกหนึ่งภารกิจครั้งสำคัญและเป็นครั้งแรกของประเทศ ในการสร้างพลเมืองดิจิทัลและสังคมการใช้งานดิจิทัลที่ปลอดภัยและยั่งยืน
นี่คือการต่อยอดภารกิจ หลักสูตร อุ่นใจ CYBER และถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศที่มีการเปิดตัวโครงการที่สามารถประเมินผลความรู้ความเข้าใจในการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย สามารถนำไปพัฒนาและส่งเสริมให้คนไทยมีความรู้เท่าทันกับการใช้งานดิจิทัลที่ปลอดภัยและสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และข้อดีของตัวดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล จะมีความครอบคลุมแบบรอบด้านทั้งเพศวัยทุกช่วงอายุ อาชีพ ภูมิภาค จังหวัด ซึ่งในอนาคตโครงการนี้จะกลายเป็นวาระแห่งชาติ เพราะสามารถนำหลักสูตร อุ่นใจ CYBER และดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลไปใช้งานได้ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ องค์กร บริษัทเอกชน ฯลฯ
ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพาร์เนอร์หลายภาคส่วน
ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index แบ่งออกเป็นทั้งหมด 7 ด้าน
ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index ชี้ให้เห็นถึงทักษะดิจิทัล ที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทย 7 ด้าน ประกอบด้วย ทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use), ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy), ทักษะ ด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration),
ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights), ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety), ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying) และทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship)
หลังจากการเก็บผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ และกลุ่มอาชีพจากทุกจังหวัด ทั่วประเทศกว่า 21,862 คน ได้ผลสรุปในภาพรวมที่แบ่งดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยออกมาได้ 3 ระดับ ประกอบด้วย
สุขภาวะดิจิทัลระดับสูง (ADVANCED)
ผู้ที่มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยี ดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์ รวมถึงยังรู้เท่าทันการใช้งานและภัยไซเบอร์ทุกรูปแบบ ที่สำคัญยังสามารถแนะนำให้คนรอบข้างเกิดทักษะในการใช้งานดิจิทัลได้เป็นอย่างดี
สุขภาวะดิจิทัลระดับพื้นฐาน (BASIC)
เป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะในการใช้ เทคโนโลยีดิจิทัลละโลกไซเบอร์ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์
สุขภาวะดิจิทัลระดับที่ต้องพัฒนา (IMPROVEMENT)
เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอที่จะใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล มีความเสี่ยงต่อการใช้งานในโลกไซเบอร์
จากผลการศึกษาพบว่า ภาพรวมของคนไทยมีสุขภาวะทางดิจิทัล อยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีถึง 44.04% ที่ยังอยู่ในระดับต้องพัฒนา และจะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีสุขภาวะดิจิทัลระดับที่ต้องได้รับการพัฒนามากที่สุด นอกจากนี้ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index ยังสามารถจำแนกสุขภาวะดิจิทัลระดับของคนไทยออกมาได้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็น ช่วงอายุต่าง ๆ อาชีพ ภูมิภาค จังหวัด โดยผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลเกือบทุกองค์ประกอบ ยกเว้นการใช้ดิจิทัล และการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ และองค์ประกอบที่อยู่ในระดับสูงทุกกลุ่มอายุ คือการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ องค์ประกอบที่อยู่ในระดับต้องพัฒนามากที่สุด คือการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล
สำหรับระดับสุขภาวะดิจิทัล ของคนไทยกับอาชีพ จะเห็นได้ว่ามีหลายกลุ่มที่ต้องได้รับการพัฒนา โดยผู้ที่มีอาชีพพนักงานของรัฐมีระดับดัชนีชี้วัดสุขภาวะทางดิจิทัลในภาพรวมสูงที่สุด (0.78) รองลงมาคือ อาชีพรับราชการ (0.67) นักเรียน/นักศึกษา (0.59) และข้าราชการบำนาญ (0.47) โดยอยู่ในระดับพื้นฐาน ส่วนผู้ที่ว่างงาน (0.42) พนักงานบริษัทเอกชน (0.41) ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว (0.38) รับจ้างทั่วไป (0.33) รัฐวิสาหกิจ (0.31) และเกษตรกร (0.24) อยู่ในระดับต้องพัฒนา
ส่วนระดับสุขภาวะดิจิทัล ของคนไทยเมื่อมองตามภูมิภาค กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีค่าเฉลี่ยดัชนีชี้วัดสุขภาวะทางดิจิทัลในภาพรวมสูงที่สุด (0.61) โดยอยู่ในระดับพื้นฐาน รองลงมาคือ ภาคอีสาน (0.59) ภาคกลาง (0.50) ภาคตะวันออก (0.52) ภาคใต้ (0.49) โดยอยู่ในระดับพื้นฐาน ภาคตะวันตก (0.40) และภาคเหนือ (0.33) อยู่ในระดับต้องพัฒนา ตามลำดับ
ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น การที่เอไอเอสเปิดตัว ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index จึงเป็นเสมือนหนึ่งเข็มทิศที่ช่วยให้มองเห็นเส้นทางในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index มีสำคัญอย่างไร ต่อประเทศไทย
เมื่อคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการประเมินผลทางด้านสุขภาวะทางดิจิทัล จึงเป็นการแก้ปัญหาในแบบบูรณาการและยั่งยืน เพราะดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index จะทำให้เรารู้ได้อย่างไรว่า วันนี้เรามีสุขภาวะทางดิจิทัลในระดับที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ และจะต้องพัฒนาเพิ่มเติมรึเปล่า การมี ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาร่วมกันรับมือ และหาวิธีในการจัดการกับการใช้งานออนไลน์และโลกไซเบอร์ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและเกิดความยั่งยืน ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความปลอดภัยของการใช้งานไซเบอร์ในทุกรูปแบบ สมดังเจตนารมณ์ของเอไอเอส ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโซลูชันและบริการดิจิทัลเพื่อปกป้องและส่งเสริมการใช้งานอย่างปลอดภัย และการสร้างองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมความฉลาดและทักษะของพลเมืองดิจิทัล
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย เพิ่มเติมที่ https://sustainability.ais.co.th/storage/update/report/advanc-ebook-thailand-cyber-wellness-th.pdf หรือองค์กรใดสนใจนำดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index เพื่อใช้วัดผลและขับเคลื่อนองค์กร สามารถติดต่อมาได้ที่ aissustainability@ais.co.th